
Live!! การประชุมจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายการจัดการเรียนรู้พัฒนาสมรรถนะเพื่อการเปลี่ยนแปลง ในวันที่อังคารที่ 21 กันยายน 2564 เวลา 12.30-16.30 น. โดย สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น

Live!! การประชุมจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายการจัดการเรียนรู้พัฒนาสมรรถนะเพื่อการเปลี่ยนแปลง ในวันที่อังคารที่ 21 กันยายน 2564 เวลา 12.30-16.30 น. โดย สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา และ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วม “ประชุมวิชาการเพื่อนำเสนอผลงานของครูและนักวิจัย” ในโครงการความร่วมมือการศึกษาทดลองการจัดการเรียนรู้ ที่ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศควรรษที่ 21 สู่การปฏิบัติในสถานศึกษา : สมธรรถนะการสร้างสรรค์เชิงนวัตกรรม รูปแบบออนไลน์ ในวันที่ 12 กันยายน 2564 ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยครูต้นแบบ 5 จังหวัด 4 ภูมิภาค พร้อมร่วมรับชมนิทรรศการออนไลน์แบบ Virtual Conference จากครูต้นแบบ 5 จังหวัด 25 โรงเรียน ZOOM MEETING ID : 984 4394 8103 PASSCODE : edkku
คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในนามแม่ข่าย พร้อมด้วยสถาบันเครือข่ายผลิตครู 19 สถาบันภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน จัดกิจกรรมเสริมหลักสูตรเพื่อพัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ให้แก่นิสิตนักศึกษาครูใน โครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น (Enrichment Program) ระดับเครือข่ายสถาบันผลิตครู (Summer Camp ประจำปี 2564) จัดขึ้นเมื่อระหว่างวันที่ 7-8 และ 14-15 สิงหาคม 2564 ในรูปแบบออนไลน์ โดยได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.สุมาลี ชัยเจริญ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในนามประธานแม่ข่ายเครือข่าย 19 สถาบันผลิตครูฯ เป็นประธานกล่าวเปิดกิจกรรม และ บรรยายพิเศษในหัวข้อ “ครูไทยแห่งอนาคต”
รศ.ดร.สุมาลี ชัยเจริญ กล่าวว่า “โครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น มีวัตถุประสงค์ที่คัดเลือกคนดี คนเก่ง เข้ามาศึกษาวิชาชีพครู ในสถาบันฝ่ายผลิตที่มีคุณภาพ เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะได้รับการบรรจุเข้ารับราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในภูมิลำเนาของตนเอง โดยกำหนดเป้าหมายดำเนินการระหว่าง ปี พ.ศ. 2559-2570 ซึ่งรัฐบาลก็มุ่งหวังว่าโครงการนี้จะเป็นโครงการนำร่องในการปฏิรูประบบการผลิตครูซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษา เพื่อสร้างครูคุณภาพสูง ช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาในพื้นที่ นำไปสู่การจัดการเรียนรู้ของเด็กไทยให้ได้มาตรฐานสากล มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะสถาบันเครือข่ายหลัก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ร่วมกับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนที่เป็นเครือข่ายรวมกัน รวมทั้งสิ้น 19 สถาบันซึ่งมีจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการ 1,228 คน และการอบรมครั้งนี้เป็นกิจกรรมที่เน้นการสร้างสมรรถนะด้านการออกแบบจัดการเรียนรู้ที่เน้นการสร้างสิ่งแวดล้อมทางการเรียนรู้แบบสมาร์ทที่เน้นทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ด้านสมรรถนะ AI ที่มุ่งเน้นการทำ Data Analytic ที่นำเอาข้อมูลมาวิเคราะห์แนวโน้มพฤติกรรมของผู้เรียน และด้านสมรรถนะการสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ ที่มุ่งเน้นการคิดเชิงออกแบบ Design Thinking นำไปสู่การเป็นผู้ประกอบการในการสร้างนวัตกรรมบอร์ดเกมส์”
โดยกิจกรรมแบ่งออกเป็นการบรรยายใน 3 หัวข้อ 1) Design Thinking and Board Game for Education วิทยากรโดย ผศ.ดร.นิวัฒน์ ศรีสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมการศึกษาสร้างสรรค์ และ ผศ.ดร.พรสวรรค์ วงค์ตาธรรม ประธานคณะกรรมการบริหารหลักสูตรคอมพิวเตอร์ศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ 2) Data Analytic & Data Visualization for SMART Education วิทยากรโดย รศ.ดร.ปณิตา วรรณพิรุณ หัวหน้าศูนย์วิจัยการจัดการนวัตกรรมและเทคโนโลยี สำนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ผศ.ณัฐภัทร แก้วรัตนภัทร์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์ สำนักวิชาการศึกษาทั่วไปและนัวตกรรมการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันฑา และ อ.ดร.พงศธร ปาลี รองผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ 3) SMART Learning Environment วิทยากรโดย รศ.ดร.อิศรา ก้านจักร รองคณบดีฝ่ายยุทธศาสตร์และพัฒนาองค์กร คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมทีมวิทยากร ซึ่งการบรรยายครอบบคลุมนักศึกษาในโครงการฯ รหัส 59 จำนวน 4 รุ่น รหัส 60 จำนวน 2 รุ่น และ รหัส 61 จำนวน 1 รุ่น
เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2564 คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยสาขาวิชาการสอนภาษาไทย จัดกิจกรรม “วันภาษาไทยแห่งชาติ” ประจำปี 2564 ได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.สุมาลี ชัยเจริญ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ เป็นประธานกล่าวเปิดกิจกรรม
กิจกรรมได้จัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์ ถ่ายทอดสดผ่านทาง Facebook Page “การสอนภาษาไทย คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น” ทั้งนี้กิจกรรมประกอบด้วย การเสวนาทางวิชาการในหัวข้อ “Unlock Idea สร้างห้องเรียนมิติใหม่” โดยคุณนะโม ชลิพา ดุลยากร ผู้ก่อตั้ง Facebook Page “Inskru” การแสดงแอนิเมชัน เรื่อง โรมิโอกับจูเลียต และนิทรรศการจำลองแสดความรู้วันภาษาไทย ร่วมถึงกิจกรรมแข่งขันทักษะทางภาษาไทย กิจกรรมแฟนพันธุ์แท้วรรณคดีไทย และกิจกรรมตอบคำถาม
กิจกรรมวันภาษาไทยแห่งชาติจัดขึ้นเพื่อให้นักศึกษาสาขาวิชาการสอนภาษาไทยได้ใช้ความรู้ ความสามารถ ทักษะการทำงาน เพื่อกระตุ้นและปลูกจิตสำนึกให้บุคคลตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญ ของภาษาไทย รวมถึงส่งเสริมและอนุรักษ์การใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง ตลอดจนการเผยแพร่และแสดงผลงานของนักศึกษา อีกทั้งเป็นประโยชน์ต่อนักเรียนและผู้เข้าร่วมกิจกรรม ได้มีโอกาสฝึกฝนทักษะและเป็นการธำรงไว้ซึ่งภาษาไทย และได้แสดงความสามารถด้านทักษะภาษาไทย
ทั้งนี้ผู้สนใจสามารถรับชมกิจกรรมได้ย้อนหลังผ่าน Facebook Page “การสอนภาษาไทย คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น”
คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็น 1 ใน 4 สถาบันที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมกิจกรรม “ส่งเสริมกระบวนการชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อพัฒนาจรรยาบรรณวิชาชีพผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (E-PLC)” ประจำปี 2564 ซึ่งจัดโดยสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเป็นการพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาและผู้เตรียมเข้าสู่วิชาชีพทางการศึกษา และบูรณาการหลักจรรยายบรรณวิชาชีพครูสู่การปฏิบัติการสอนในชั้นเรียน
เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2564 คณะศึกษาศาสตร์ นำโดย รศ.ดร.สุมาลี ชัยเจริญ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ พร้อมด้วย รศ.ดร.จารุณี ซามาตย์ รองคณบดีฝ่ายการศึกษาและพัฒนาคุณภาพ และ ผศ.ดร.ศราวุธ จักรเป็ง รองผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัย ฝ่ายประถมศึกษา(ศึกษาศาสตร์) ร่วมต้อนรับ คณะกรรมการกำกับติดตามและประเมินผล ซึ่งนำโดย ผศ.ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโม คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ เป็นประธานคณะกรรมการฯ ผ่านระบบ ZOOM โดยกิจกรรมกำกับติดตามฯ ในครั้งนี้คณะกรรมการได้เข้าร่วมสังเกตชั้นเรียนในกิจกรรมการเปิดชั้นเรียน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยระดับชั้นประถมศึกษา ปีที่ 5 ปีที่ 4 ปีที่ 2 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายประถมศึกษา (ศึกษาศาสตร์) ครูผู้สอนโดย น.ส.ณัฐนรี ทองใบ น.ส.ศรัญญา กันหาป้อง และ น.ส.พิมพิศา คูณมา นักศึกษาปฏิบัติการสอนในสถานศึกษา และผู้เข้าร่วมสังเกตชั้นเรียนเป็นคณะผู้บริหาร พร้อมด้วย รศ.อรอนงค์ ฤทธิ์ฤาชัย ประธานคณะกรรมการประสานงานรายวิชาการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษา 1-2 ผศ.ดร.จตุภูมิ เขตจัตุรัส ประธานคณะกรรมการกำกับติดตามการดำเนินงานชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) และอาจารย์ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย หลังจากเข้าร่วมสังเกตชั้นเรียนคณะกรรมการฯ ได้ร่วมสะท้อนผลและให้คำแนะนำการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนเพื่อใช้ในการปรับปรุงและพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2564 มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่น กับ กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 2 โดยมี รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น พลตำรวจตรี สุภัทร ม่วงสมัย ผู้บังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 2 รองศาสตราจารย์ ดร.สุมาลี ชัยเจริญ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วยคณะผู้บริหารจากทั้ง 2 หน่วยงานร่วมลงนาม โดยการจัดพิธีในครั้งนี้เป็นการจัดผ่านระบบออนไลน์ Zoom Application
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า เป็นโอกาสดีที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น กับ กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 2 จะได้ร่วมมือกันทางวิชาการเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการเรียนรู้ การวิจัยการผลิตสื่อและนวัตกรรมการเรียนรู้ และกิจกรรมอื่น ๆ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ให้กับครูตำรวจตระเวนชายแดนในสังกัดกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 2
“ในนามมหาวิทยาลัยขอนแก่น กระผมรู้สึกยินดีที่เกิดเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง 2 หน่วยงานขึ้นในครั้งนี้ และ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่น กับกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 2 นี้จะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยในการขับเคลื่อนส่งเสริมศักยภาพการจัดศึกษา อันจะนำไปสู่ความสำเร็จในด้านคุณภาพของผู้เรียนอย่างมีประสิทธิผลสูงสุดต่อไป” อธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าว
รองศาสตราจารย์ ดร.สุมาลี ชัยเจริญ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า การจัดพิธีลงนามฯ ในครั้งนี้ เกิดขึ้นได้จากความมุ่งหมายร่วมกันระหว่าง 2 หน่วยงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม และ สนับสนุนความร่วมมือทางวิชาการที่มีความเกี่ยวเนื่องกับการจัดการเรียนรู้ การวิจัย การผลิตสื่อ และ นวัตกรรมการเรียนรู้ และกิจกรรมอื่น ๆ ในการพัฒนาองค์ความรู้ของบุคลากรของครูตำรวจตระเวนชายแดนในสังกัด กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 2
“แนวทางความร่วมมือนั้นจะเป็นรูปแบบกิจกรรมประสานความร่วมมือทางวิชาการ เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอน และการติดตามประเมินผล โดยเชิญคณาจารย์จาก คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ รวมถึงการสนับสนุนช่วยเหลือกิจกรรมด้านวิชาการที่จะนำไปสู่ความเข้มแข็งทางวิชาการในลักษณะอื่น ๆ ตามที่ทั้ง 2 หน่วยงานเห็นชอบ” คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าว
พลตำรวจตรี สุภัทร ม่วงสมัย ผู้บังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 2 กล่าวขอบคุณท่านอธิการบดี คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ คณาจารย์ บุคลากรมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ได้มองเห็นความสำคัญของเด็กและเยาวชนที่ด้อยโอกาสในถิ่นทุรกันดาร จนเกิดเป็นความร่วมมือทางวิชาการครั้งนี้
“ปัจจุบันกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 2 รับผิดชอบพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนในความรับผิดชอบจำนวน 53 แห่ง มีครูตำรวจตระเวนชายแดนจำนวน 368 คน มีนักเรียนจำนวน 5,325 คน ความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่น กับ กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 2 จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยตรงกับครูโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ที่จะมีนวัตกรรมในการจัดการเรียนรู้ การผลิตสื่อ และ นวัตกรรมการเรียนรู้ หลายด้าน อาทิ ด้านสังคมศึกษา ศีลธรรมหน้าที่พลเมือง เศรษฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ อันนำไปสู่คุณลักษณะอันพึงประสงค์ 8 ประการ นอกจากนี้ การ MOU ครั้งนี้ยังเป็นการสนองพระดำริในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ซึ่งถือว่าเป็นการให้โอกาสเด็กนักเรียนในการพัฒนาตนเองและท้องถิ่นให้เป็นพลเมืองดีของชาติสืบไป” ผู้บังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 2 กล่าว
ข่าว/ภาพ : รวิพร สายแสนทอง กองสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยขอนแก่น
เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงติดตามการดำเนินโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชน ตามพระราชดำริ ณ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนคอนราดเฮงเค็ล จังหวัดนครพนม ครั้งที่ 7/1033 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ออนไลน์) ในการนี้ รศ.ดร.สุมาลี ชัยเจริญ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ พร้อมด้วยคณาจารย์สาขาวิชาสังคมศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ถวายงานในส่วนของการจัดนิทรรศการโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ การสร้างสรรค์นวัตกรรมการสอนสังคมศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 และร่วมถวายงานการสาธิตการสอน ณ ห้อง สาธิตการเรียนการสอนวิชาสังคมศึกษาในศตวรรษที่ 21 ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนคอนราดเฮงเค็ล
โดยในส่วนนิทรรศการเป็นการนำเสนอผลการดำเนินโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การสร้างสรรค์นวัตกรรมการสอนสังคมศึกษา เพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21” ใน 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ดำเนินกิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ในหัวข้อเรื่อง นวัตกรรมการสอน การผลิตสื่อประกอบการจัดการเรียนรู้ในส่วนของการผลิตสื่อทำมือและสื่อเทคโนโลยี แก่ครูในสังกัดกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 23 จำนวน 60 คน จาก 11 โรงเรียน ผลจากการดำเนินโครงการ พบว่า ครูผู้เข้าร่วมโครงการได้รับการพัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์ผ่านการผลิตสื่อ และมีความพึงพอใจต่อการดำเนินกิจกรรมของโครงการในระดับมากที่สุด ระยะที่ 2 การนำนวัตกรรมการสอนสังคมศึกษาไปปฏิบัติในโรงเรียนกลุ่มเป้าหมาย โดยครูผู้เข้าร่วมโครงการฯ นำนวัตกรรมการสอนและสื่อการเรียนรู้ ไปประยุกต์ใช้กับนักเรียนผ่านกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับระดับชั้นและบทเรียน อันเป็นการส่งเสริมนักเรียนให้เกิดทักษะกระบวนการคิดเชิงสร้างสรรค์ที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสม รวมถึงเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมให้แก่ผู้เรียนผ่านกิจกรรม อาทิ การผลิตสื่อบัตรคำศัพท์ และเกมการ์ด ผลจากการนำไปปฏิบัติ ผู้เรียนเกิดทักษะการคิดเชิงสร้างสรรค์ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอันนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวัน และระยะที่ 3 การติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการ ผ่านกระบวนการการสอนสาธิตของครูที่เข้ารับการอบรมในโครงการฯ และร่วมกันสะท้อนผลการสอนทั้งในมุมของผู้สอนและผู้เรียน ผลการประเมินพบว่า ครูสามารถนำนวัตกรรมการสอนประยุกต์ร่วมกับการใช้สื่อเพื่อจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนของตนเองได้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้การดำเนินโครงการฯ ตลอด 3 ระยะที่ผ่านมาเป็นไปด้วยความเรียบร้อย บรรลุตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ทุกประการ คณะครูผู้เข้าร่วมอบรมในโครงการฯ สามารถนำองค์ความรู้ ทักษะกระบวนการจัดการต่าง ๆ ไปใช้ในการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ในชั้นเรียนอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และเกิดเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการระหว่างคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กับสถานศึกษาในสังกัดกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 2
ในส่วนงานการสาธิตการสอน คณาจารย์สาขาวิชาสังคมศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ ได้เตรียมความพร้อมให้กับครูผู้ถวายงานในการจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นฐานเพื่อเป็นการฝึกทักษะการแก้ปัญหาให้กับผู้เรียนร่วมกับการใช้สื่อประกอบการสอนที่หลากหลาย นอกจากนี้ยังมีการสอดแทรกกิจกรรมที่ส่งเสริมความสามารถในการอ่าน เขียน และคุณธรรมจริยธรรมในการจัดการเรียนการสอน
เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดประชุมชี้แจ้งและถ่ายทอดแผนปฏิบัติการ ประจำปีงบประมาณ 2565 โดยมี รศ.ดร.สุมาลี ชัยเจริญ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ พร้อมคณะผู้บริหาร ร่วมประชุมถ่ายทอดแผนฯ ซึ่งกิจกรรมประกอบด้วย คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ได้บรรยายภาพรวมยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาขอนแก่นและคณะศึกษาศาสตร์ ประจำปีงบประมาณ 2565 และหลังจากนั้นรองคณบดีบรรยายยุทธศาสตร์ของละฝ่าย โดยผู้เข้าร่วมเป็นผู้บริหาร ประธานคณะกรรมการบริหารหลักสูตร คณาจารย์ บุคลากร ทั้งคณะศึกษาศาสตร์ และ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมรับฟังแผนยุทธศาตร์ เพื่อที่จะสร้างความเป็นเลิศด้านการจัดการเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการ และพัฒนาคณะศึกษาศาสตร์และโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่นสู่ความเป็นสากล