ยุคแห่งการก่อตั้งคณะศึกษาศาสตร์

HISTORY OF FACULTY OF EDUCATIOIN

     คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2511 ซึ่งในวันนั้น คณะกรรมการพิจารณาจัดตั้งคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประชุมเป็นครั้งแรก ณ แผนกจิตวิทยา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงถือเอาวันที่ 13 กันยายน เป็นวันสถาปนาคณะศึกษาศาสตร์ ทั้งนี้เพื่อให้มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีส่วนสนับสนุนในแผนพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยมีหลักการและเหตุผลที่สำคัญ คือ การขาดแคลนครูปริญญา การขาดความสมดุลด้านคุณภาพการศึกษาระหว่างส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และการขาดการวิจัยการศึกษาและจิตวิทยาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คณะศึกษาศาสตร์จึงจัดตั้งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ทั่วไปเพื่อจะพัฒนาการศึกษาในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือตามนโยบายของรัฐบาล โดยมีวัตถุประสงค์เฉพาะดังนี้ คือ

  • เพื่อผลิตครูปริญญา และอนุปริญญาสาขาวิชาต่างๆ ที่จะสอนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา โดยร่วมมือกับกรมการฝึกหัดครูกระทรวงศึกษาธิการ ในการผลิตครู โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
  • เพื่อผลิตโสตทัศนูปกรณ์ ตำราและเอกสารการศึกษา อันจะส่งเสริมในการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และการศึกษาได้ผลมากขึ้น
  • เพื่อทดลองวิจัยวิธีการสอน การจัดการเรียนการสอน และหลักสูตรประเภทต่างๆ ที่เหมาะสมในการเตรียมครู โดยเฉพาะอย่างยิ่งครูที่สอนในชนบท
  • เพื่อมีส่วนร่วมในการส่งเสริมพัฒนาชนบท โดยปฏิบัติงานร่วมกับโรงเรียนชุมชน สถานศึกษาต่าง ๆ และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
  • เพื่อเผยแพร่และให้บริการด้านการศึกษา การอบรมแก่ชุมชนและครูประจำการในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
  • เพื่อวิจัยปัญหาต่าง ๆ ด้านการศึกษาและจิตวิทยา อันจะช่วยให้เข้าใจสภาพบุคคล และสภาพแวดล้อมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้ดียิ่งขึ้น อันจะช่วยเป็นประโยชน์ในการศึกษาต่อไป

ยุคที่ ๑ ยุคแห่งการก่อตั้งคณะศึกษาศาสตร์ (พ.ศ.๒๕๑๑-๒๕๒๐)

  ยุคนี้เป็นยุคครบรอบ ๑๐ ปี เป็นยุคของการก่อตั้งคณะและก่อตั้งโรงเรียนสาธิต กล่าวคือ ในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ได้เปิดรับนักศึกษาครั้งแรก โดยรับนักศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชาการมัธยมศึกษารุ่นที่ ๑ จำนวน ๑oo คน โดยใช้อาคารเรียนของคณะวิทยาศาสตร์ อักษรศาสตร์ เป็นสำนักงานของคณะและสถานที่เรียนชั่วคราวในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ เริ่มก่อสร้างอาคารเรียนของคณะฯ ทางทิศใต้ของมหาวิทยาลัย บริเวณหมู่บ้านสีฐาน ในปีเดียวกันก็ได้จัดตั้งโรงเรียนสาธิตอนุบาลและสาธิตประถมขึ้นเพื่อทำการทดลองและวิจัยการสอนแบบต่างๆ ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๕๑๗ ได้มีการรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาการประถมศึกษารุ่นแรกเพิ่มขึ้นอีกสาขาหนึ่ง จำนวน ๕๖ คนและในปี พ.ศ.๒๕๑๙ โรงเรียนสาธิตคณะศึกษาศาสตร์ได้เปิดรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาเพิ่มขึ้นอีก

ยุคที่ ๒ ยุคแห่งการขยายโอกาสทางการศึกษา (พ.ศ.๒๕๒๑-๒๕๓๐)

ยุคครบรอบ ๒๐ ปีนี้ เป็นยุคของการขยายการทำงานด้านหลักสูตรารายวิชา ของคณะให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ซึ่งมีผลให้ประชากรของภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีโอกาสในการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา และมีคุณภาพทางการศึกษาเพิ่มสูงขึ้น กล่าวคือ มีการเปิดสอนหลักสูตรระดับปริญญาตรี สาขาวิชาพลศึกษา การมัธยมศึกษา การสอนสังคมศึกษา (หลักสูตร ๒ ปี) ศิลปศึกษาและการประถมศึกษา ในระดับปริญญาโท ได้เปิดสอนหลักสูตร สาขาวิชาจิตวิทยาการศึกษา การวัดและประเมินผลการศึกษา หลักสูตรและการสอน เทคโนโลยีการศึกษา วิทยาศาสตร์ศึกษา  และการบริหารการศึกษา ซึ่งช่วยให้บุคลากรตามสถานศึกษาที่มีวิชาเอกที่หลากหลายมีโอกาสศึกษาต่อในระดับปริญญาโทมากขึ้น

ยุคที่ ๓ ยุคแห่งการขยายโอกาสทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (พ.ศ.๒๕๓๑-๒๕๔๐)

ยุคนี้เป็นยุคครบรอบ ๓๐ ปี เป็นยุคของการเพิ่มหลักสูตรสาขาวิชาทั้งระดับปริญญาตรี และปริญญาโท ได้แก่ ปริญญาตรี ศิลปศึกษา หลักสูตร ๔ ปี ปริญญาโท สาขาวิชาพัฒนศึกษาศาสตร์ สังคมศึกษา พลศึกษา วิทยาศาสตร์ศึกษา การแนะแนวและให้คำปรึกษา หลักสูตรภาคพิเศษสาขาวิชาการประถมศึกษา และจิตวิทยาการศึกษา เปิดหลักสูตรระดับปริญญาเอก หลักสูตรศึกษาศาสตรดุษฎีบัณฑิต (ภาคพิเศษ) สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน  และสาขาวิชาการบริหารการศึกษา รุ่นแรก รวมทั้งเปิดหลักสูตรปริญญาเอกตามความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่น กับมหาวิทยาลัยดีคิน (Deakin University) ประเทศออสเตรเลีย  สาขาวิชาการศึกษา หลักสูตร ๓ ปีรุ่นแรก 
เหตุการณ์ที่สำคัญเหตุการณ์หนึ่งในยุคนี้คือ ในปีพ.ศ. ๒๕๓๙คณะศึกษาศาสตร์ได้ย้ายที่ทำการจากบริเวณหมู่บ้านสีฐาน มายังเขตการศึกษาตามผังแม่บทของมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นที่ทำการในปัจจุบันนี้

ยุคที่ ๔ ยุคแห่งการพัฒนาคุณภาพการศึกษา (พ.ศ.๒๕๔๑-๒๕๕๐)

ยุคนี้เป็นยุคครบรอบ ๔๐ ปี เป็นยุคที่คณะได้พยายามพัฒนาคุณภาพของสาขาวิชาที่มีอยู่เดิม ด้วยการนำร่องตั้งศูนย์วิจัยต่างๆเพื่อพัฒนาความเข้มแข็งด้านการเรียนการสอน เข้าร่วมเป็นศูนย์วิจัยเฉพาะทาง และในศูนย์ความเป็นเลิศด้านคณิตศาสตร์ เข้าสู่การประเมินคุณภาพการศึกษาของสำนักงานมาตรฐานการศึกษา ในปีพ.ศ.๒๕๔๗ เปิดหลักสูตรผลิตครูระดับปริญญาตรี ศึกษาศาสตรบัณฑิต (หลักสูตร ๕ ปี) รุ่นแรก จำนวน ๙ หลักสูตรรวมทั้งเปิดหลักสูตรปริญญาตรีสองปริญญาร่วมกับสถาบันขงจื๊อและมหาวิทยาลัยซีหนาน (Southwest University) สาขาวิชาการสอนภาษาจีนในฐานะภาษาต่างประเทศ รุ่นแรกด้วย นอกจากนั้น ยังได้รับนักศึกษาระดับปริญญาเอก หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาคณิตศาสตรศึกษา สาขาวิชาการวัดและประเมินผลการศึกษา รุ่นแรก เปิดหลักสูตรปริญญาโท สาขาวิชาสิ่งแวดล้อมศึกษา 

ยุคที่ ๕ ยุคแห่งการเป็นคณะศึกษาศาสตร์/ครุศาสตร์ต้นแบบของประเทศ (พ.ศ.๒๕๕๑-ปัจจุบัน)

ยุคนี้เป็นยุคครบรอบ ๕๐ ปี ที่ได้ยกระดับคุณภาพทางวิชาการของหลักสูตรสาขาวิชาตามแนวทางของสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา กล่าวคือ ให้กลุ่มนักวิจัยหรือศูนย์วิจัยมาช่วยกำหนดทิศทางการงานวิจัยของนักศึกษา มีผลให้นักศึกษามีทิศทางการทำวิจัยที่ตอบสนองความต้องการของพื้นที่ บัณฑิตที่จบไปมีคุณลักษณะที่โดดเด่นเป็นที่พึงพอใจของผู้ใช้งาน มีผลให้หลักสูตรการผลิตครูของคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นทั้งในแง่ของหลักสูตร การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนและการพัฒนาคุณลักษณะบัณฑิตด้วยกิจกรรมเสริมต่างๆที่เป็นเอกลักษณ์ จนได้รับการยอมรับว่าสามารถเป็นคณะต้นแบบด้านการผลิตครูได้  นอกจากนี้  เพื่อสนองตอบนโยบายของมหาวิทยาลัยวิจัยและในยุคที่ก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน คณะศึกษาศาสตร์จึงได้เสนอขอจัดตั้ง“สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน” เพื่อร่วมทำงานกับคณะศึกษาศาสตร์โดยเน้นการนำงานวิจัยที่ได้จากคณะและศูนย์ต่างๆ นำไปแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่