เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงติดตามการดำเนินโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชน ตามพระราชดำริ ณ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนคอนราดเฮงเค็ล จังหวัดนครพนม ครั้งที่ 7/1033 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ออนไลน์) ในการนี้ รศ.ดร.สุมาลี ชัยเจริญ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ พร้อมด้วยคณาจารย์สาขาวิชาสังคมศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ถวายงานในส่วนของการจัดนิทรรศการโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ การสร้างสรรค์นวัตกรรมการสอนสังคมศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 และร่วมถวายงานการสาธิตการสอน ณ ห้อง สาธิตการเรียนการสอนวิชาสังคมศึกษาในศตวรรษที่ 21 ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนคอนราดเฮงเค็ล
โดยในส่วนนิทรรศการเป็นการนำเสนอผลการดำเนินโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การสร้างสรรค์นวัตกรรมการสอนสังคมศึกษา เพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21” ใน 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ดำเนินกิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ในหัวข้อเรื่อง นวัตกรรมการสอน การผลิตสื่อประกอบการจัดการเรียนรู้ในส่วนของการผลิตสื่อทำมือและสื่อเทคโนโลยี แก่ครูในสังกัดกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 23 จำนวน 60 คน จาก 11 โรงเรียน ผลจากการดำเนินโครงการ พบว่า ครูผู้เข้าร่วมโครงการได้รับการพัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์ผ่านการผลิตสื่อ และมีความพึงพอใจต่อการดำเนินกิจกรรมของโครงการในระดับมากที่สุด ระยะที่ 2 การนำนวัตกรรมการสอนสังคมศึกษาไปปฏิบัติในโรงเรียนกลุ่มเป้าหมาย โดยครูผู้เข้าร่วมโครงการฯ นำนวัตกรรมการสอนและสื่อการเรียนรู้ ไปประยุกต์ใช้กับนักเรียนผ่านกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับระดับชั้นและบทเรียน อันเป็นการส่งเสริมนักเรียนให้เกิดทักษะกระบวนการคิดเชิงสร้างสรรค์ที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสม รวมถึงเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมให้แก่ผู้เรียนผ่านกิจกรรม อาทิ การผลิตสื่อบัตรคำศัพท์ และเกมการ์ด ผลจากการนำไปปฏิบัติ ผู้เรียนเกิดทักษะการคิดเชิงสร้างสรรค์ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอันนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวัน และระยะที่ 3 การติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการ ผ่านกระบวนการการสอนสาธิตของครูที่เข้ารับการอบรมในโครงการฯ และร่วมกันสะท้อนผลการสอนทั้งในมุมของผู้สอนและผู้เรียน ผลการประเมินพบว่า ครูสามารถนำนวัตกรรมการสอนประยุกต์ร่วมกับการใช้สื่อเพื่อจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนของตนเองได้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้การดำเนินโครงการฯ ตลอด 3 ระยะที่ผ่านมาเป็นไปด้วยความเรียบร้อย บรรลุตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ทุกประการ คณะครูผู้เข้าร่วมอบรมในโครงการฯ สามารถนำองค์ความรู้ ทักษะกระบวนการจัดการต่าง ๆ ไปใช้ในการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ในชั้นเรียนอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และเกิดเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการระหว่างคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กับสถานศึกษาในสังกัดกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 2
ในส่วนงานการสาธิตการสอน คณาจารย์สาขาวิชาสังคมศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ ได้เตรียมความพร้อมให้กับครูผู้ถวายงานในการจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นฐานเพื่อเป็นการฝึกทักษะการแก้ปัญหาให้กับผู้เรียนร่วมกับการใช้สื่อประกอบการสอนที่หลากหลาย นอกจากนี้ยังมีการสอดแทรกกิจกรรมที่ส่งเสริมความสามารถในการอ่าน เขียน และคุณธรรมจริยธรรมในการจัดการเรียนการสอน