เมื่อวันที่ 16 มี.ค. ที่ห้องประชุม ชั้น 5 สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่าง คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) กับ สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.)
โดย รศ.ดร.สุมาลี ชัยเจริญ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ทางคณะฯ เชื่อมั่นใน พว. และเชื่อมั่นในสิ่งที่ พว. ทำมา รวมถึงโมเดลกระบวนการที่ พว. พัฒนาขึ้นมา คือ GPAS 5 steps ซึ่งถ้าดูให้ลึกแล้วจะเห็นว่า เป็นกระบวนการสร้างคนไปสร้างชาติ เพราะเป็นการสร้างคนที่จะเสาะแสวงหาความรู้ เพื่อสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรม โดยกระบวนการหล่อหลอมนี้เป็นกระบวนการปฏิบัติจริง และสิ่งสำคัญคือ มีการเน้นเรื่องของคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยม ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้คนไทยในชาติมาช่วยกันสร้างชาติได้ “ทางคณะฯรู้สึกชื่นชมและยอมรับในโมเดลที่ พว. พยายามพัฒนาจนมาถึงวันนี้ และพร้อมที่จะได้รับการพัฒนาให้เร็วที่สุด โดยคาดหวังว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นกลไกหรือตัวจักรตัวเล็ก ๆ ที่จะขับเคลื่อนให้การศึกษาไทย และการปฏิรูปการเรียนรู้ของเด็กไทยเคลื่อนไป จากการที่เด็กจะรอรับความรู้ จดจำ แล้วนำมาสอบ มาเป็นคนที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง มีทักษะที่จะดักจับความรู้ได้ตลอดชีวิต สามารถสร้างความรู้ สร้างความคิด รวมถึงกระบวนการที่จะนำความรู้ความคิดไปสร้างสรรค์นวัตกรรม” คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มข. กล่าว
ด้าน ดร.สุมาลี อุทัยเฉลิม ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning สามารถสร้างผู้เรียนให้เป็นนวัตกรที่จะสร้างนวัตกรรมระดับชาติได้ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ ศ.กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ย้ำเรื่องนี้มาก โดยเฉพาะนายกฯจะย้ำและถามถึงบ่อยมาก ก็ได้รายงานว่าตอนนี้มีความคืบหน้าค่อนข้างมากแล้ว ทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ก็มีการขับเคลื่อนการสอนแบบ Active Learning ในพื้นที่ต่าง ๆ แล้ว และยิ่งมีระดับอุดมศึกษาหลายมหาวิทยาลัยมารองรับก็ยิ่งทำให้เห็นความต่อเนื่องมากขึ้น เพราะฉะนั้นเชื่อว่า เราจะเห็นผลของการปฏิรูปการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรมได้ในเร็ว ๆ นี้
ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ ประธานคณะกรรมการบริหาร สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) กล่าวว่า วันนี้ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่มหาวิทยาลัยเห็นความสำคัญของการพลิกโฉมการศึกษาของประเทศไทย โดยมีเป้าหมายและทิศทางที่ชัดเจน คือ กระบวนการถักทอสร้างความรู้ หรือ กระบวนการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 54 และมาตรา 258 จ (4) และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เพราะจากการศึกษาวิจัยพบว่า ปัญหาของประเทศไทยที่ไม่สามารถยกระดับคุณภาพการศึกษาได้สำเร็จตลอด 40 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากตัวกระบวนการหายไปจากห้องเรียนและการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน จึงจำเป็นต้องเร่งขับเคลื่อนเรื่องการเรียนรู้ของเด็กด้วยกระบวนการให้กลับมา
ดร.ศักดิ์สิน กล่าวต่อไปว่า การปฏิรูปการเรียนรู้ด้วยกระบวนการเรียนรู้เป็นหัวใจสำคัญที่สุด ที่จะทำให้การจัดการศึกษาบรรลุเป้าหมายของหลักสูตรต่าง ๆ ได้ และกระบวนการเรียนรู้ยังทำให้เห็นผลการเรียนรู้ที่เป็นรูปธรรม สัมผัสได้ พิสูจน์ได้ และเชื่อถือได้ นอกจากนี้ยังสามารถประเมินผลสัมฤทธิ์ระดับชาติ ทั้งการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ โอเน็ต และ การประเมินผลนักเรียนนานาชาติ หรือ พิซ่า ซึ่งเป็นการประเมินภายหลังการพัฒนาได้ด้วย อีกทั้งกระบวนการเรียนรู้เดียวกันยังสามารถยกระดับคุณภาพของสถานศึกษาไปสู่มาตรฐานชาติและมาตรฐานสากลได้โดยใช้เวลาไม่นาน รวมถึงยังสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพในการพัฒนาครู ซึ่งมีผลลัพธ์ที่เกิดกับผู้เรียน มีร่องรอยและหลักฐานที่จะนำไปสู่การเลื่อนวิทยฐานะของครูได้ด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้น หากสามารถขับเคลื่อนเรื่องของกระบวนการเรียนรู้ได้อย่างถูกต้องแล้ว จะทำให้ได้เห็นผลของการพัฒนาทุกด้านทุกมิติไปพร้อม ๆ กันได้อย่างแน่นอน
“คิดว่าเป็นโอกาสที่ดีมากที่คณะศึกษาศาสตร์ มข. มาร่วมมือกับ พว. ในการพัฒนากระบวนการเรียนรู้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เยาวชนไทย โดย มข. ถือเป็นมหาวิทยาลัยแรกทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มาจุดประกายการพลิกโฉมการศึกษาไทย ด้วยกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning ซึ่งจะสามารถสร้างคุณภาพผู้เรียนไปถึงระดับนวัตกรรมได้ และยังสามารถใช้แบบแผนการคิดไปพัฒนาสู่การเป็นดิจิทัล หรือเอไอ ได้ด้วย” ประธาน พว. กล่าว
ขอบคุณข่าว : เดลินิวส์ Dailynews online https://www.dailynews.co.th/news/863365