“จุดประทีบตูมกาขอขมาพระแม่คงคา” จากการค้นคว้าขบวนแห่วัฒนธรรมอีสานสู่สายตาในงานสีฐานเฟสติวัล

สีฐานเฟสติวัล บุญสมมาบูชานาค หรือ Sithan KKU Festival มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในช่วงเทศกาลวันลอยกระทง ซึ่งได้ผสมผสานความหลากทางศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน ร่วมถึงการสืบสานและอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมผ่านความศรัทธาในเชิงคุณค่าแบบดั้งเดิมของชาวอีสาน ให้เกิดเป็นแหล่งเรียนรู้ สร้างสรรค์ ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค และระดับชาติ โดยในปี 2566 นี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดเทศกาล สีฐานเฟสติวัล บุญสมมาบูชานาค ขึ้นระหว่างวันที่ 25-27 พฤศจิกายน 2566 ณ บริเวณบึงสีฐาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยสโมสรนักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ ได้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นประจำทุกปี ซึ่งในปี้นี้ (2566) ได้เข้าร่วมประกวดขบวนแห่ งานสีฐานเฟสติวัลโดยมีแนวคิด “จุดประทีปไฟไต่ตูมกา บัวแก้วเลื่อมศรัทธา สมมานาคะเจ้า” ซึ่งเสนอการนำประทีบไฟตูมกาที่ใช้ในพิธีกรรมบูชาพระพุทธศาสนาและการขอขมาพระแม่คงคา ผ่านขบวนแห่ที่มีความเฉพาะเจาะจง ที่เผยแพร่วิถีชีวิตและศาสนาของชาวบ้านทุ่งแต้จังหวัดยโสธรอย่างที่ไม่เหมือนใคร

จากการค้นคว้าและลงพื้นที่ในจังหวัดยโสธรและจังหวัดอุบลราชธานี ของผู้ออกแบบ โดยสโมสรนักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ ซึ่งแนวคิดของขบวนแห่นี้นำเสนอเรื่องราวของประเพณีจุดไฟตูมกา บ้านทุ่งแต้ จังหวัดยโสธร เป็นสถานที่ที่มีประเพณีและวิถีชีวิตที่เชื่อถือในพระพุทธศาสนาและพญานาค โดยในช่วงวันเพ็ญเดือนสิบสอง (วันลอยกระทง) ชาวบ้านจะนำผลตูมกา มาผ่าครึ่งแล้วคว้านเอาเนื้อและเมล็ดออกจากนั้นจะนำไปตากแห้ง และนำฝ้ายมาฟั่นเป็นเกลียวคล้ายตีนกา แล้วหยอดน้ำมันเทียนลงในผลตูมกาเพื่อเป็นผางประทีป ใช้ลอยในการขอขมาพระแม่คงคา ซึ่งมีความศรัทธาและเชื่อว่าเป็นการสมมาต่อพญานาคผู้พิทักษ์รักษาพระพุทธศาสนา และเป็นอีกประเพณีสำคัญหนึ่ง ที่จัดขึ้นที่วัดบูรพาบ้านทุ่งแต้ จังหวัดยโสธร 

ส่วนการแต่งกายของผู้เดินขบวนแห่นั้นถูกถ่ายทอดในรูปแบบของอัญญานางและขุนนางผู้ดีเมืองอุบลราชธานี ด้วยแต่ก่อนจังหวัดยโสธรขึ้นเป็นอำเภอยโสธร จังหวัดอุบลราชธานี และเมื่อปี พ.ศ2515 จึงแยกออกจากจังหวัดอุบลราชธานี ตั้งขึ้นเป็นจังหวัดยโสธร โดยการแต่งกายอย่างผู้ดีชั้นเจ้านายจะนุ่งซิ่นไหมคำมีตีนเชิงกรวย เป็นการผสานศิลปวัฒนธรรมอีสานพื้นถิ่นของจังหวัดยโสธร ถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานผ่านขบวนวัฒนธรรมและการแสดงที่มีเอกลักษณ์และน่าสนใจในมุมมองของการสืบทอดประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งรวมไปถึงส่วนประกอบที่สำคัญของขบวนแห่ คือ กระทง ที่สโมสรนักศึกษาได้ร่วมกันรังสรรค์ออกมาภายใต้แนวคิด “ประทีบใต้นาคา บูชาพระโคดม” โดยนำเอาความเชื่อของผู้คนในลุ่มแม่น้ำโขง รวมไปถึงวิธีชีวิต เอกลักษณ์ศิลปะสกุลช่างญวน วัดราษฎร์ประดิษฐ์ จังหวัดอุบลราชธานี ที่มีความโดดเด่นในรูปแบบและโทนสีเฉพาะตัว ประดิษฐ์เป็นโคมในรูปแบบกระทงที่ได้รับแรงบรรดาลใจจากประทีบตูมกา โดยมีรูปทรงเป็นโคมไฟพร้อมการสลักลวดลายวัฒนธรรมผสมผสานกับหัตถศิลป์พื้นบ้านและฉลุลวดลาย โดยวัสดุที่นำมาใช้ทำกระทงนั้นเป็นวัสดุจากธรรมชาติและวัสดุรีไซเคิล

“เรานำแนวคิดและแรงบันดาลใจจากที่เราได้เห็นผ่านโลกโซเชียลในเรื่องของประเพณีการจุดไฟตูมกา ของชาวบ้านทุ่งแต้ จังหวัดยโสธร และเราก็ได้ปรึกษากันในทีม จึงได้ลงพื้นที่จังหวัดยโสธรและจังหวัดอุบลราชธานี ไปศึกษาบริบทจริงและได้ไปเห็นว่าเค้าทํากันยังไงครับ รวมถึงสอบถามผู้รู้ ไปดูสถานที่จริง ซึ่งไฟตูมการเกิดขึ้นมาจากการที่ในสมัยแต่ก่อนนั้นมันไม่มีไฟฟ้าใช้ ชาวบ้านจึงได้นําผลตูมกามาควานเมล็ดออกแล้วก็นําเทียนไปจุดด้านใน เพื่อส่องสว่างจนกระทั่งภายหลังเนี่ย นํามาใช้เป็นเครื่องสักการะบูชาพระพุทธและชาวบ้านก็จะมีความสัมพันธ์เกี่ยวกับเรื่องของแม่น้ำลําคลองครับ และก็เชื่อว่าสิ่งที่อยู่ในนั้นที่ปกปักษ์รักษาเนี่ยก็คือพญานาค ก็เลยนําไฟตูมกานี้มาลอยเพื่อเป็นการขอขมาและสักการะพญานาคผู้เป็นเจ้าบาดาลดูแลปกปักรักษาน่านน้ำลําคลองให้อุดมสมบูรณ์ตลอดทั้งปีเพื่อที่จะใช้ในการเกษตร เราเลยได้นำเอาแนวคิดนี้มาสร้างสรรค์เป็นงานออกแบบขบวนและกระทงเพื่อที่จะนำมาใช้ในงานสีฐานเฟสติวัลในปีนี้และเราก็อยากจะให้คนที่มาเที่ยวงานได้เห็นว่ามีประเพณีนี้อยู่ในภาคอีสานของเราครับ”

นายปฏิพล หฤแสง นายกสโมสรนักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ ประจำปี 2566 : ผู้ให้สัมภาษณ์ 

ซึ่งนอกจากขบวนวัฒนธรรมที่นำเสนอเอกลักษณ์และวิถีชีวิตของชาวอีสานแล้ว สโมสรนักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ ยังได้ร่วมส่งขบวนแห่ KKU Carnival 2023 ภายใต้ธีม “Esan Ghost Play Dance Troupe เริงระบำเทศกาลผีแห่งอีสาน” ที่หยิบยกเอา “ผีบรรพบุรุษ ผีปู่ผีย่า ผีตาผียาย” ที่มีอิทธิพลต่อพิธีกรรมและการดำเนินชีวิตของชาวอีสาน ซึ่งด้วยความเชื่อในเรื่องผีบรรพบุรุษประกอบกับความเชื่อในพระพทธศาสนาได้เกิดเป็นประเพณี บุญเดือนสิบ บุญข้าวสาก ซึ่งเป็นการทำห่อข้าวสาก พร้อมข้าวปลาอาหารไปห้อยไว้ตามต้นไม้หรือบริเวณรั้ววัดให้ผีเปรต ผีเร่ร่อน ได้มารับส่วนบุญส่วนกุศลซึ่งผลบุญก็จะอวยพรให้ลูกหลานอยู่เย็นเป็นสุข ร่วมไปถึงประเพณีเลี้ยง “ผีตาแฮก” ในที่นาก่อนที่จะเริ่มลงกล้าข้าวโดยเชื่อว่าจะช่วยดูแลให้ข้าวงอกงามอุดมสมบูรณ์ ซึ่งเป็นที่มาของขบวน Carnival ที่สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อในเรื่องผีบรรพบุรุษร่วมถึงความสนุกสนานของชาวอีสานเมื่อมีงานบุญประเพณีต่างๆ ในรูปของขบวนการแสดงที่ตื้นเต้นและสนุกสนาน

ทุกองค์ประกอบของการสร้างสรรค์ที่สโมสรนักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ ที่รวบรวมและค้นคว้า ได้มาซึ่งองค์ความรู้พร้อมรังสรรค์ผลงานที่มีคุณค่าและความหมายของวัฒนธรรมอีสานนั้น ได้นำมาถ่ายทอดสู่สายตาของผู้คนที่ท่องเที่ยวในงาน สีฐานเฟสติวัล บุญสมมาบูชานาค มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประจำปี 2566 ได้เห็นถึงความสวยงามถึงภูมิปัญญาประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิมเพื่อดำรงและรักษาไว้ให้ลูกหลานต่อไป

สรุปผลการประกวด ที่ได้รับประกอบด้วย
• รางวัลชนะเลิศ “ประกวดกระทงใหญ่ ประเภทสร้างสรรค์” “ประทีบใต้นาคา บูชาพระโคดม”
• รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 “การประกวดขบวนแห่” “จุดประทีปไฟไต่ตูมกา บัวแก้วเลื่อมศรัทธา สมมานาคะเจ้า”
• รางวัล Fantastic Vehicle มหัศจรรย์รถแห่สร้างสรรค์ “ขบวนแห่ KKU Carnival 2023” “Esan Ghost Play Dance Troupe เริงระบำเทศกาลผีแห่งอีสาน”
• รางวัลชนะเลิศ “ประกวดกระทงเล็ก ประเภทสร้างสรรค์” นายธนากร หิรัญเขว้า นักศึกษาสาขาศิลปศึกษา ชั้นปีที่ 2
• รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 “ประกวดกระทงเล็ก ประเภทสวยงาม” “การประกวดร้องเพลงลูกทุ่ง ประเภทชาย”
• รางวัลชนะเลิศ นายชินวัฒน์ อรัญทม นักศึกษาสาขาการสอนภาษาไทย ชั้นปีที่  4
• รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 นายชาญณรงค์ ทองศรี นักศึกษาสาขาวิชาการสอนภาษาไทย ชั้นปีที่ 3
• รางวัลชมเชย นายณัฏฐกิตติ์ ศรีจันทึก นักศึกษาสาขาวิชาการสอนภาษาไทย ชั้นปีที่ 4
• รางวัลรองอันดับ 1 “การประกวด MISS KKU ANGEL 2023” เบาหวิว สุธางค์กุณ จาติ นักศึกษาสาขาการสอนภาษาไทย ชั้นปีที่  4

ขอบคุณภาพ : ฝ่ายเทคโนโลยี สโมสรนักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น