มหาวิทยาลัยขอนแก่น ลงนาม MOU สมาคมการศึกษาภาคเอกชน สปป.ลาว เสริมสร้างความร่วมมือพร้อมยกระดับด้านการศึกษาในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

5 กุมภาพันธ์ 2568 – คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ทางวิชาการกับสมาคมการศึกษาภาคเอกชน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ณ โรงแรม Latsavong Wanda Vista Vientiane นครหลวงเวียงจันทน์ มุ่งหวังในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการศึกษาและการพัฒนาทางวิชาการระหว่างสองประเทศ และการยกระดับการศึกษาในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

พิธีการลงนามประกอบไปด้วยบุคคลสำคัญจากทั้งสองฝ่าย โดยมี นายสุรพล เพชรวรา อุปนายกสภามหาวิทยาลัย รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วยรองอธิการบดี และ ดร.คำแสน สีสะวง สมาชิกสภาแห่งชาติลาวและประธานสมาคมการศึกษาภาคเอกชน สปป.ลาว ท่านสมพร สอนดารา หัวหน้าแผนกศึกษาธิการและกีฬา นครหลวงเวียงจันทน์ ให้เกียรติเป็นประธานในการลงนาม พร้อมด้วยคณะผู้บริหารทั้งสองฝ่าย ได้แก่ รศ.ดร.อิศรา ก้านจักร คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ ท่านนางจินดา พนเตซา รองประธานสมาคมการศึกษาภาคเอกชน สปป.ลาว ในฐานะผู้ลงนาม ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้แก่ ผศ.ดร.ศิริศักดิ์ เหล่าจันขาม คณบดีวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น, ผศ.สิริมนพร ทิพสิงห์ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติ, รศ.ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์, รศ.ดร.รัชพล สันติวรากร คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์, ผศ.ดร.พงษ์สุทธิ พื้นแสน คณบดีคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี, ดร.ศักดิ์ชัย เจริญศิริพรกุล คณบดีวิทยาลัยบัณฑิตศึกษาการจัดการ และ ผศ.ดร.สุนทรี บูชิตชน คณบดีคณะสหวิทยาการ ร่วมลงนามเป็นพยาน เพื่อแสดงถึงการขยายความร่วมมือการพัฒนาในทุกมิติต่อไปในอนาคต

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้กล่าวถึงยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับโครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงและการร่วมมือระหว่างลาวและไทย “ความร่วมมือครั้งนี้มีความสำคัญและสอดคล้องเป็นอย่างยิ่งกับยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นในการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยเน้นการพัฒนาใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ การบริการการศึกษา การบริการสุขภาพ ศิลปวัฒนธรรม และการท่องเที่ยว ซึ่งเหล่านี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรในภูมิภาค การร่วมมือกับสมาคมการศึกษาภาคเอกชน สปป.ลาว เป็นก้าวสำคัญในการสร้างเครือข่ายการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ทางด้านการศึกษา ซึ่งจะส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับบริบทของภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพ คณะศึกษาศาสตร์ และโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการพัฒนานวัตกรรมทางการศึกษา การทำความร่วมมือด้านวิชาการในครั้งนี้จะเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการทำงานวิจัยด้านการศึกษาร่วมกัน และการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวิชาการจะช่วยยกระดับมาตรฐานการศึกษาในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงให้สู่ระดับสากล พร้อมทั้งเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับเครือข่ายการศึกษาในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง”

ดร.คำแสน สีสะวง สมาชิกสภาแห่งชาติและประธานสมาคมการศึกษาภาคเอกชน สปป.ลาว ได้กล่าวถึงการลงนามในความร่วมมือทางการศึกษาระหว่างสมาคมการศึกษาภาคเอกชน สปป.ลาว กับมหาวิทยาลัยขอนแก่นว่า “สมาคมการศึกษาภาคเอกชนถือเป็นศูนย์กลางในการส่งเสริมการศึกษาภาคเอกชนทั่วประเทศ โดยมีสมาชิกมากถึง 1,200 โรงเรียน ตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงระดับอาชีวะศึกษา การร่วมมือกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นในครั้งนี้ จะช่วยพัฒนาการศึกษาในลาวอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในด้านหลักสูตรการเรียนการสอน การพัฒนานักศึกษา ครูอาจารย์ บุคลากร รวมไปถึงผู้บริหาร ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยยกระดับและพัฒนากำลังคน การวิจัยด้านการศึกษา”ครับ
“สมาคมการศึกษาภาคเอกชนได้วางแนวทางไว้ในการร่วมมือกับต่างประเทศเพื่อพัฒนานักศึกษาและการเรียนการสอนในประเทศลาว ให้บุคลากรของเรามีคุณภาพและสามารถแข่งขันในระดับสากลได้ เรามีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น เชื่อว่าความใกล้ชิดทั้งทางภาษาและวัฒนธรรมระหว่างลาวและไทย จะช่วยเสริมสร้างการเชื่อมโยงด้านการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ” ดร. คำแสน กล่าวเสริม.

พร้อมกันนี้ คณะผู้บริหารและคณาจารย์จากคณะศึกษาศาสตร์ พร้อมด้วยผู้บริหารและครูจากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เดินทางลงพื้นที่โรงเรียนเอกชนในนครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เพื่อสังเกตการณ์และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการจัดการเรียนการสอน โดยคณะได้มีโอกาสเข้าสังเกตชั้นเรียนในระดับต่างๆ ร่วมกิจกรรมการเรียนการสอนแบบมีส่วนร่วม และประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้บริหารและครูผู้สอนของทั้งสองประเทศ

รศ.ดร.อิศรา ก้านจักร คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ กล่าวว่า การลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) และการลงพื้นที่ในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญในการเจาะลึกและทำความเข้าใจระบบการศึกษาของ สปป.ลาว ข้อมูลและประสบการณ์ที่ร่วมมือพัฒนาโครงการความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะในด้านการพัฒนาหลักสูตร การแลกเปลี่ยนบุคลากร และการวิจัยทางการศึกษาร่วมกัน นอกเหนือจากการแลกเปลี่ยนด้านวิชาการแล้ว ยังเป็นโอกาสสำคัญในการสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรทางการศึกษาของทั้งสองประเทศ แและจากการหารือความร่วมมือซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้จะมีกิจกรรมสำคัญเกิดขึ้น ได้แก่ School Curriculum Development: STEAM, Professional Development for Educator: Coaching& Teaching Excellence, Excellence Innovative Leadership Program: EILP, Student Immersive Development Program และ Educational Innovation Sandbox ทั้งนี้จะช่วยเสริมสร้างความร่วมมือทางการศึกษาและขับเคลื่อนนวัตกรรมการเรียนการสอนในภูมิภาคต่อไป

ทั้งนี้ ข้อมูลและข้อคิดเห็นที่ได้จากการลงพื้นที่จะถูกนำมาวิเคราะห์และสังเคราะห์ เพื่อจัดทำแผนความร่วมมือระยะยาว โดยมีเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพการศึกษาของทั้งสองประเทศ ผ่านการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ นวัตกรรมการสอน และการพัฒนาบุคลากรร่วมกัน ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือที่ยั่งยืนในอนาคต อันจะเป็นประโยชน์ต่อวงการการศึกษาของทั้งสองประเทศต่อไป

Scroll to Top