มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาการวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ได้ดำเนินงานโครงการวิจัยโมเดลระบบนิเวศการเรียนรู้ที่บูรณาการ Coding & AI สำหรับเยาวชน เปิดโอกาสให้เยาวชนที่มีอายุระหว่าง 15 – 25 ปี ได้พัฒนาความรู้ และทักษะระดับสูงผ่านหลักสูตร ด้านCoding และปัญญาประดิษฐ์ เป็นโครงการวิจัยซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนากำลังคนสำหรับโลกยุคใหม่เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัล ที่มุ่งเน้นพื้นฐาน Coding และ AI โดย Coding เป็นอีกหนึ่งทักษะ ที่จำเป็นสำหรับเด็กรุ่นใหม่ที่จะก้าวสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว เป็นพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล มีลำดับขั้นตอน และสามารถพัฒนาต่อยอดไปสู่สิ่งต่าง ๆ อย่างสร้างสรรค์ การมีองค์ความรู้ด้าน Coding & AI จึงเป็นการเตรียมความพร้อมด้านกำลังคนรองรับความต้องการของประเทศทั้งภาครัฐและภาคอุตสาหกรรม ส่งเสริมให้เยาวชนและบุคลากรของประเทศมีองค์ความรู้ ทักษะในการผลิตเทคโนโลยี นวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างกว้างขวาง เปลี่ยนจากประเทศผู้ใช้งานเป็นประเทศผู้ผลิต สร้างสรรค์ นวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะส่งเสริมให้ประเทศชาติพัฒนาต่อไปได้ โดยเมื่อระหว่างวันที่ 22-24 มกราคม 2565 มีพิธีเปิดกิจกรรม Hackathon & Pitching E-SAN Thailand PMU-B Coding & AI Academy โดยได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาการวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) เป็นประธานในพิธีพร้อมด้วย ศ.ดร.สุมาลี ชัยเจริญ หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวรายงาน และ รศ.ดร.อิศรา ก้านจักร คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วม จัดขึ้น ณ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ โรงแรมราชาวดี จังหวัดขอนแก่น
“ในนามของหน่วยบริหารบพค. ดิฉันดีใจมากๆ ที่ได้ร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัยขอนแก่น และเครือข่ายอย่างมาก ที่ได้ร่วมพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้ Coding & AI สำหรับเยาวชน โดยส่วนมากกิจกรรมแบบนี้จะจัดขึ้นที่ภาคกลาง แต่ในช่วงหลังเราเล็งเห็นความสำคัญของเยาวชนทุกภาคส่วนที่จะได้เรียนรู้ภาษาที่สาม ซึ่งเป็นภาษาแห่งอนาคตอันใกล้ นั่นก็คือภาษา Coding ที่เชื่อมโยงเรากับแพลตฟอร์มกลาง และยังสามารถพัฒนาต่อยอดไปยังนวัตกรรมที่สร้างสรรค์” ศ.ดร. สมปอง คล้ายหนองสรวง กล่าวพร้อมทิ้งท้ายว่า กิจกรรมนี้จะเป็นเวทีที่สำคัญและเปิดโอกาสให้เยาวชนทุกภาคส่วน โดยเฉพาะในภาคอีสานเราได้เติมเต็มศักยภาพ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีการต่อยอดกับหน่วยงาน บพค. ในอนาคต
“ทางคณะศึกษาศาสตร์รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ทาง บพค. ได้เล็งเห็นความสำคัญ และถือว่าเป็นแรงผลักดันอย่างยิ่งโดยเฉพาะในภาคอีสานของเรา ที่ได้ความร่วมมือจากผู้ประกอบการทุกภาคส่วน ให้มีการต่อยอดต่อไป และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างสง่างามในอนาคต ” รศ.ดร. อิศรา ก้านจักร กล่าวต้อนรับคณะผู้วิจัย ผู้ประกอบการ และผู้เข้าร่วมทุกท่าน
โดยโครงการวิจัยโมเดลระบบนิเวศการเรียนรู้ที่บูรณาการ Coding & AI สำหรับเยาวชน เน้นการส่งเสริมทักษะ Coding & AI มีการประชาสัมพันธ์การรับสมัครผ่านโซเชียลเน็ตเวิคหลายช่องทาง และได้ออกบูธประชาสัมพันธ์การรับสมัครในงานต่าง ๆ ทำให้มีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก จนมีผู้สมัคร ครบ 1000 คน ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ จากนั้นผู้เข้าร่วมโครงการจะได้เข้าร่วมกิจกรรมที่ทางโครงการจัดเตรียมไว้ให้แบ่งเป็น 3 รอบ ได้แก่
รอบที่ 1 ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้เรียนในหลักสูตร Basic Coding & AI Skill เป็นหลักสูตรที่ส่งเสริมทักษะ Coding & AI ด้วยแพลตฟอร์มการเรียนรู้ของ Code Combat ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มโอเพนซอร์สที่ให้ผู้เรียนเรียนรู้การเขียนโปรแกรมผ่านการเล่นเกม ประกอบด้วย 3 บทเรียน ได้แก่ 1) Computer Science 2) Web Developer และ 3) Game Developer โดยแบ่งเป็น 4 ระดับ ได้แก่ 1) ระดับเริ่มต้น (Beginners) 2) ระดับพื้นฐาน (Basic) 3) ระดับกลาง (Intermediate) 4) ระดับสูง (Advance) และทางโครงการได้จัดกิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนาครูเพื่อโค้ชการเรียนรู้ที่ส่งเสริมทักษะ Coding & AI ด้วยแพลตฟอร์มการเรียนรู้ของ Code Combat” เพื่อให้ครู และผู้ปกครองนำความรู้ที่ได้จากการเข้าร่วมกิจกรรมไปใช้เพื่อโค้ชการเรียนรู้ที่ส่งเสริมทักษะ Coding & AI ให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการ เมื่อสิ้นสุดกิจกรรมในรอบที่ 1 ผลลัพธ์ที่ได้คือ ผู้เข้าร่วมโครงการมี Basic Coding & AI Skill อยู่ในระดับเริ่มต้น (Beginners) จำนวน 188 คน ระดับพื้นฐาน จำนวน 70 คนระดับกลาง (Intermediate) จำนวน 121 คน และระดับสูง (Advance) จำนวน 101 คน และมีผู้ผ่านเข้ารอบที่ 2 ตามเกณฑ์ที่โครงการกำหนด จำนวน 199 คน
รอบที่ 2 ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้เรียนในหลักสูตร Advance Coding & AI Skill คือหลักสูตรสำหรับพัฒนาเยาวชนเพื่อเข้าสู่วิชาชีพขั้นสูงด้าน Coding & AI ร่วมกับ Coding Entrepreneur & Partnership ด้วยแพลตฟอร์ม Power Class จำนวน 5 หลักสูตร ตามวิชาชีพขั้นสูง และได้ประชาสัมพันธ์ให้เยาวชน ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้ได้ฟรีในแพลตฟอร์มของ PMUB Power class จากรอบที่ 2 มีเยาวชนที่ผ่านเข้ารอบที่ 3 รวม 65 คน ประกอบด้วย
วิชาชีพ Blockchain & Fintech จำนวน 5 คน
วิชาชีพ AR-E-sport จำนวน 12 คน
วิชาชีพ BCG Industrial-IoTs Factory จำนวน 14 คน
วิชาชีพ Data Science จำนวน 17 คน
วิชาชีพ Personal AI จำนวน 13 คน
ซึ่งเป็นเยาวชนมาหลากหลายสถานศึกษาชั้นนำของประเทศ จากทุกภูมิภาคในประเทศไทย และมาจากหลายจังหวัด เช่น ขอนแก่น ร้อยเอ็ด นครราชสีมา เชียงราย สมุทรสาคร นนทบุรี มุกดาหาร ยโสธร สระบุรี อุบลราชธานี นครปฐม สกลนคร กรุงเทพมหานคร ระยอง ศรีสะเกษ เป็นต้น
รอบที่ 3 กิจกรรม Hackathon & Pitching E-SAN Thailand PMU-B Coding & AI Academy ระหว่างวันที่ 22 – 24 มกราคม 2567 ณ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ โรงแรมราชาวดี จังหวัดขอนแก่น กิจกรรมนี้ มุ่งเน้นให้เยาวชนได้เรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง ด้วยกระบวนการกลุ่ม ใช้ทักษะวิชาชีพขึ้นสูง อันจะส่งผลให้มีสมรรถนะในการประกอบอาชีพด้าน Coding & AI หรืออาชีพด้านอื่นที่สนใจได้ต่อไปในอนาคต
“นับเป็นโอกาสที่ดี ในการจัดกิจกรรม Hackathon & Pitching E-SAN Thailand PMU-B Coding & AI Academy ภายใต้โครงการ โมเดลระบบนิเวศการเรียนรู้ที่บูรณาการ Coding & AI สำหรับเยาวชน ได้รับความร่วมมือระหว่าง บพค. ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ประกอบการ ได้แก่ บริษัท Code Combat บริษัท Sun Smart Tech บริษัท อินเทลลิจิสต์ จำกัด (มหาชน) บริษัท คลัสเตอร์คิท จำกัด บฺริษัท BOTNOI Group บริษัท พรีซีชั่นไดเอทซ์ จำกัด Lets Code Thailand มูลนิธิ Asia Foundation หน่วยงานความร่วมมือต่าง ๆ ผู้ทรงคุณวุฒิของโครงการ คณะนักวิจัย ผู้ช่วยนักวิจัย และคณะทำงานทุกท่าน เพื่อต่อยอดสู่การสร้างมูลค่าอุตสาหกรรมในอนาคต” รศ.ดร. อิศรา ก้่านจักร กล่าวขอบคุณในความร่วมมือครั้งนี้
ในการเฟ้นหาเยาวชนผู้ที่ได้รับรางวัล ยังมีทุนศึกษาดูงานที่ทาง บพค. ได้มอบให้กับเยาวชนที่มีศักยภาพอีกจำนวน 5 ทุน เพื่อศึกษาดูงานต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา บรรยากาศในงานมอบรางวัลเป็นไปอย่างชื่นมื่นและตื่นเต้น โดยผู้ที่ได้รับทุนศึกษาดูงานต่อในต่างประเทศ ได้แก่ นายวีรภัทร นามคีรี จากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ,นายปิติกร คล้ายสำเนียง จากบริษัท Loloo Tech , นายณัฐพงศ์ ตั้งเสถียรภาพ จาก วิศวะคอมพิวเตอร์ สาขาสื่อดิจิทัล มหาวิทยาลัยขอนแก่น ,นายเมธี ยิ่งยงวัฒนกิจ และนายสิทธัตกะ จรัสแสง จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ภายหลังการจัดกิจกรรมมีเยาวชนที่ได้รับรางวัล และผู้ที่ไม่ได้รับรางวัล แต่ยังได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานจากคำเชิญของบริษัทต่างๆ และยังได้มีโอกาสทดลองงานจริงในบางบริษัทอีกด้วย
ข่าว : ฉัตรวัฒก์ คำพวง