คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเครือข่าย 19 สถาบันผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน จัดอบรมพัฒนาครูผู้ช่วย โครงการผลิคครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ระยะการเข้าสู่วิชาชีพ รุ่นที่ 4 รุ่นบรรจุปี 2562 “The 2nd Workshop of Teacher Induction : Smart Teaching and Learning in The New Normal : Blending innovative pedagogy and digital Technology” โดยได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.สุมาลี ชัยเจริญ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ ประธานแม่ข่ายสถาบันผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยผู้บริหารและผู้แทนจากสถาบันเครือข่ายผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ร่วมในพิธีเปิดการอบรม ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-3 พฤศจิกายน 2563 ณ โรงแรมเจริญธานี ปริ้นเซส จังหวัดขอนแก่น โดยมีผู้เข้าร่วมเป็นครูในโครงการฯ จากโรงเรียนในภาคอีสานตอนบน จำนวน 473 คน
รศ.ดร.สุมาลี ชัยเจริญ กล่าวว่า “โครงการผลิคครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น มีวัตถุประสงค์เพื่อคัดเลือกคนดี คนเก่ง เข้ามาศึกษาวิชาชีพครูในสถาบันฝ่ายผลิตที่มีคุณภาพ เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะได้รับการบรรจุเข้ารับราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในภูมิลำเนาของตนเอง และต้องเข้าร่วมโครงการพัฒนาวิชาชีพในช่วงที่ปฏิบัติงานเป็นครูผู้ช่วย หลังจากการบรรจุเข้ารับราชการภายใน 2 ปี ซึ่งการอบรมในครั้งนี้จะเป็นพื้นที่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการวิจัยในชั้นเรียน แนวปฏิบัติที่ดีในการจัดการเรียนรู้ รวมถึงได้รับฟังการบรรยายพิเศษจากผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาและเทคโนโลยีการศึกษา และเข้าร่วม Workshop การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสนับสนุนการจัดการเรียนรู้ ตลอดจนสร้างเครือข่ายทางวิชาชีพของครูในโครงการฯ ที่ได้รับการบรรจุเป็นครูผู้ช่วยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน”
กิจกรรมในการอบรมในครั้งนี้ประกอบด้วยการบรรยายพิเศษจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ในหัวข้อ “Smart Teaching and Learning in The New Normal” โดย ผศ.ดร.นิวัฒน์ ศรีสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมการศึกษาสร้างสรรค์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และในหัวข้อ “Technology –Enabled Active Learning” โดย รศ.ดร.ปณิตา วรรณพิรุณ หัวหน้าศูนย์วิจัยการจัดการนวัตกรรมและเทคโนโลยี คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ซึ่งเป็นการบรรยายเทคโนโลยีด้านการศึกษาในอนาคตที่ครูทุกคนต้องปรับเปลี่ยน รวมถึงรูปแบบการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนที่มีการนำเอาเทคโนโลยีเข้าผนวกเข้าไปใช้ในชั้นเรียนมากขึ้นเพื่อที่จะสร้างและเตรียมความพร้อมให้แก่นักเรียนที่จะก้าวเข้าสู่การดำรงชีวิตในศตวรรษใหม่
การเข้าร่วม Workshop ได้แบ่งออกเป็น 4 ช่วง ประกอบด้วย 1)การวิเคราะห์และออกแบบการสอนสำหรับการศึกษาวิถีใหม่ 2)การสร้างชั้นเรียนแบบออนไลน์ 3)การสร้างสื่อวิดิโอเพื่อการเรียนรู้ และการสร้างช่องโทรทัศน์ออนไลน์ 4)การใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการประเมินผลการเรียนรู้ ซึ่งจะมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญร่วมในการ Workshop ให้แก่ครูร่วมถึงมีการนำเสนอและประเมินแผนการสอนของแต่ละกลุ่ม เพื่อนำไปต่อยอดใช้ในการเรียนการสอนต่อไป
มหาวิทยาลัยเครือข่าย 19 สถาบันผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบด้วย
มหาวิทยาลัยขอนแก่น
มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน
มหาวิทยาลัยนครพนม
มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์เลย
มหาวิทยาลัยมหามงกุฎราชวิทยาลัย วิทยาเขตศรีล้านช้าง
มหาวิทยาลัยมหามงกุฎราชวิทยาลัย วิทยาเขตอีสาน
มหาวิทยาลัยมหามงกฎราชวิทยาลัย วิทยาลัยศาสนศาสตร์เฉลิมพระเกียรติกาฬสินธุ์
มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ
มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย
มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร
มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี
วิทยาลัยพิชญบัณฑิต
วิทยาลัยสันตพล
สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตชัยภูมิ
สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตอุดรธานี
วิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์