ศึกษาศาสตร์ มข. จับมือ NSD Neuron จัดอบรมจิตวิทยาการให้คำปรึกษามุ่งพัฒนาทักษะครูในการดูแลสุขภาวะทางใจนักเรียน

3 เมษายน 2568 – คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับบริษัท เอ็นเอสดี นิวรอน จำกัด จัดโครงการอบรมออนไลน์ “จิตวิทยาเพื่อการดูแลให้คำปรึกษาเบื้องต้น” เพื่อเสริมสร้างทักษะด้านจิตวิทยาการให้คำปรึกษาแก่ครูและบุคลากรทางการศึกษา สะท้อนนโยบายการพัฒนาครูให้พร้อมรับมือกับปัญหาสุขภาพจิตของผู้เรียนในยุคปัจจุบัน โดยได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.กภ.คุรุศาสตร์ คนหา รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานกล่าวเปิดงาน และ รศ.ดร.อิศรา ก้านจักร คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ เป็นผู้กล่าวต้อนรับ

ผศ.ดร.กภ.คุรุศาสตร์ คนหา รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ กล่าวในพิธีเปิดว่า “สุขภาพจิตเป็นรากฐานสำคัญของการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักศึกษา หรือบุคคลทั่วไป ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการดูแลจิตใจตนเองและผู้อื่น จะช่วยลดปัญหาด้านสุขภาพจิต เสริมสร้างความเข้มแข็งทางอารมณ์ และช่วยให้สังคมของเราเป็นสังคมที่เกื้อกูลกันมากยิ่งขึ้น กิจกรรมครั้งนี้ไม่เพียงมุ่งเน้นการให้ความรู้เท่านั้น แต่ยังเป็นต้นแบบของหลักสูตรเพิ่มเติมที่ได้รับการรับรองจากผู้เชี่ยวชาญทางจิตเวชศาสตร์ ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการให้คำปรึกษาและการดูแลสุขภาพจิตในวงกว้าง”

รศ.ดร.อิศรา ก้านจักร คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ กล่าวว่า “ในยุคที่ปัญหาสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนมีความซับซ้อนมากขึ้น คณะศึกษาศาสตร์ได้ตระหนักถึงความสำคัญของบทบาทครูในการดูแลนักเรียนอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะด้านจิตใจ โครงการนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการผลิตและพัฒนาครูที่มีความรู้ความสามารถในการให้คำปรึกษา สามารถเป็นที่พึ่งและช่วยเหลือนักเรียนได้อย่างถูกต้องเหมาะสม” รศ.ดร.อิศรา เสริมว่า “คณะศึกษาศาสตร์มีความเชื่อมั่นว่า ครูที่มีทักษะด้านการให้คำปรึกษา คือกำลังสำคัญในการดูแลสุขภาวะทางใจของนักเรียนทั่วประเทศ เราวางแผนที่จะพัฒนาระบบสนับสนุนครูด้านการดูแลสุขภาพจิตนักเรียนแบบองค์รวม ทั้งในด้านการฝึกอบรม การให้คำปรึกษา และการเชื่อมโยงเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ครูมีความมั่นใจในการเป็นด่านหน้าของการคัดกรองและช่วยเหลือปัญหาสุขภาพจิตในโรงเรียน”

การอบรมครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก พ.ต.ต.หญิง พญ.ดลนภา รัตนากร จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและผู้ก่อตั้ง SynZ Application & SynZ Academy เป็นพร้อมด้วยทีมงานผู้เชี่ยวชาญร่วมเป็นวิทยากร โดยได้ถ่ายทอดความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและเทคนิคปฏิบัติในการสังเกต คัดกรอง และให้การช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้เรียนที่มีปัญหาทางด้านจิตใจและอารมณ์ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประกอบด้วยครู อาจารย์ นักศึกษาวิชาชีพครู และบุคลากรทางการศึกษาที่สนใจด้านจิตวิทยาการให้คำปรึกษา โดยเนื้อหาของการอบรมครอบคลุมทั้งการสร้างความเข้าใจพื้นฐานทางจิตวิทยา การรับฟังอย่างลึกซึ้ง เทคนิคการสื่อสารเชิงบวก การประเมินภาวะเสี่ยง และแนวทางการส่งต่อผู้เชี่ยวชาญเมื่อพบปัญหาที่ซับซ้อน

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มุ่งมั่นที่จะเสริมทักษะด้านจิตวิทยาการให้คำปรึกษาแก่ครูและนักศึกษาวิชาชีพครูอย่างต่อเนื่อง เน้นการพัฒนาหลักสูตรการอบรมที่ทันสมัยและตอบโจทย์ความท้าทายด้านสุขภาพจิตในปัจจุบัน รวมถึงการขยายเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีเป้าหมายสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ที่เอื้อต่อการเสริมสร้างทักษะด้านการให้คำปรึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ

more insights

ศึกษาศาสตร์ มข. จัดอบรมต่อเนื่อง ‘AI-Exploring Educator’ นำร่องขับเคลื่อน ‘KKUED AI Competency’ ติดอาวุธครูสาธิตฯ ระดับประถม สู่ยุคดิจิทัล

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เดินหน้าวิสัยทัศน์ด้านนวัตกรรมการศึกษา ผ่านการจัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ “AI-Exploring Educator” ซึ่งถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการขับเคลื่อนกรอบสมรรถนะที่คณะฯ พัฒนาขึ้นเองอย่าง “KKUED AI Competency” เพื่อสร้างครูแห่งอนาคตที่ไม่ได้เป็นเพียงผู้ใช้เทคโนโลยี แต่คือ ‘ผู้ออกแบบการเรียนรู้’ อย่างแท้จริง รศ.ดร.อิศรา ก้านจักร คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ กล่าวถึงหลักการสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนครั้งนี้ว่า “เราเชื่อมั่นว่า

Read more >

ศึกษาศาสตร์ มข. จัดอบรม Thailand PSF รุ่นที่ 2 สู่สมรรถนะอาจารย์มืออาชีพ

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นมุ่งมั่นในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาสู่ความเป็นเลิศ จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ “เพื่อพัฒนาอาจารย์ในสถานอุดมศึกษา Thailand-PSF” รุ่นที่ 2 มุ่งเตรียมความพร้อมให้คณาจารย์เข้าสู่สมรรถนะอาจารย์มืออาชีพตามกรอบมาตรฐานวิชาชีพของประเทศไทย (Thailand Professional Standards Framework) กิจกรรมในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.จารุณี ซามาตย์ รองคณบดีฝ่ายการศึกษา เป็นประธานกล่าวเปิดการอบรม พร้อมได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิอย่าง รศ.ดร.โอภาส เกาไศยาภรณ์

Read more >

โครงการ “ครูรักษ์ถิ่น” ศึกษาศาสตร์ มข. คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 แนวปฏิบัติที่ดี (Good Practice) ตอกย้ำพันธกิจสร้างครูคุณภาพสู่ชุมชน

1 กรกฎาคม 2567 | ห้องประชุมสารสิน อาคารสิริคุณากร สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น – คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย “โครงการสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลเป็นครูรุ่นใหม่เพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนของชุมชน ปีการศึกษา 2567 (โครงการครูรักษ์ถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น)” สามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ประเภทแนวปฏิบัติที่ดี

Read more >
Scroll to Top